jump to navigation

อนุ กก.ถกแก้ รธน.ยังวุ่น สองฝ่ายเห็นต่างคงหรือแก้ ม.237 พฤษภาคม 14, 2009

Posted by 1000thainews in การเมือง.
Tags: , , , , , , , , , , ,
trackback

อนุ กก.ถกแก้ รธน.ยังวุ่น สองฝ่ายเห็นต่างคงหรือแก้ ม.237

อนุ กก.ถกแก้ รธน.ยังวุ่น สองฝ่ายเห็นต่างคงหรือแก้ ม.237

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
14 พฤษภาคม 2552 14:19 น.

คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น

เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

ที่ประชุมอนุกรรมการศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ หารือนัด 2 ยังวุ่น ต่างฝ่ายต่างเห็นแย้ง ยากลงตัว ฟาก “เพื่อไทย” อัดมาตรา 237 เป็นยาพิษของระบอบประชาธิปไตย เขียนขึ้นเพราะมองนักการเมืองเป็นตัวร้าย ย้อนพวกปฏิวัติล้มรัฐธรรมนูญ กลับไม่ถูกลงโทษ ชี้ 2 มาตรฐาน ขณะที่ “เจิมศักดิ์” แจงเหตุมีมาตรา 237 เกิดจากการระดมความเห็นประชาชน เห็นพ้องควรลงโทษนักการเมืองที่โกงเลือกตั้ง ส่วน “สุรชัย “ สวนกลับ เป็นยาล้างพิษคนทำลายระบอบประชาธิปไตยมากกว่า
       
       วันนี้ (14 พ.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่ห้องประชุม 206 อาคารรัฐสภา 2 มีการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยมีพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช เป็นประธานในการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มีการหารือถึงมาตรา 68 และมาตรา 237 ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการยุบพรรคการเมือง
       
       นายประยุทธ ศิริพานิชย์ อนุกรรมการ จากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มีคนบอกว่ามาตรา 237 เป็นยาแรง แต่ตนไม่คิดเช่นนั้น เพราะมาตรา 237 เปรียบได้กับยาพิษที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามมาตรา 65 ที่อนุญาตให้ประชาชนจัดตั้งพรรคการเมืองได้ เปรียบเสมือนเป็นเจ้าของพรรคการเมือง
       
       ด้านนายวิรัช รัตนเศรษฐ อนุกรรมการจากพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะไม่รู้ว่าแก้ไปแล้วจะได้อะไรหรือแก้แล้วอาจจะเกิดปัญหามากยิ่งขึ้น การที่มีมาตรา 237 ทำให้พรรคการเมืองปรับเปลี่ยนรูปแบบโดยการส่งนอมนีไปเป็นกรรมการบริหารพรรค รวมถึงลดจำนวนกรรมการบริพรรคเพื่อสู้กับมาตรา 237 อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้มาตรา 237 นั้นจะเป็น 2 มาตราฐานหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีการยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน แต่วันนี้ทราบว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งกำลังจะเสนอเรื่องยุบพรรคประชาธิปัตย์ด้วย จึงอยากทราบว่ามาตราฐานส่วนนี้จะ 2 มาตรฐานหรือไม่
       
       ขณะที่ นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เห็นว่า พรรคการเมืองควรถูกยุบในกรณีที่มีพฤติกรรมขัดกับมาตรา 68 ที่ระบุว่าบุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้ ตนจึงไม่อยากให้มีการแก้ไขมาตรา 68 สำหรับมาตรา 237 ที่มีการถกเถียงกันมาตลอดว่า เป็น 2 มาตรฐานนั้น เป็นการพูดของคนที่พรรคถูกยุบ แล้วชี้ไปยังพรรคตรงกันข้ามว่าทำไมไม่ถูกยุบบ้าง ซึ่งการที่พรรคถูกยุบนั้นเพราะพรรคนั้นไปทำผิดกฎหมาย แต่พรรคที่ไม่ถูกยุบก็เพราะไม่ได้ทำผิดกฎหมาย กรณีนี้จึงไม่ใช่เรื่อง 2 มาตราฐาน
       
       นายชำนิ กล่าวอีกว่า ถ้าพรรคการเมืองทำผิดกฎหมายเลือกตั้งแล้วไม่ถูกยุบพรรค ความรับผิดชอบยังคงต้องมีอยู่หรือไม่ และกรรมการบริหารพรรคควรจะต้องมีการรับผิดชอบต่อการทำผิดหรือไม่ ซึ่งหากพิจารณาตามกรอบอย่างนี้จะทำให้การทำงานง่ายขึ้น
       
       นายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มาตรา 68 และมาตรา 237 นั้นเจตนารมย์ของคนเขียนรัฐธรรมนูญ เป็นเจตนารมย์ที่มองพรรคการเมืองและนักการเมืองในแง่ร้าย คนร่างมองด้วยความเป็นอคติ เพราะคนที่ล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เช่นการปฎิวัติรัฐประหารของทหาร มีหรือไม่ที่เขียนบทลงโทษไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่มีเลย มีแต่จะเอาเป็นเอาตายกับนักการเมือง และยังมีการร่าง ม.309 เอาไว้นิรโทษกรรมด้วย
       
       ด้าน นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ผู้ทรงคุณวุฒิจากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ50 ใช้ยุบพรรค 3 พรรค คือ พรรคพลังประชาชน พรรคมัชฌิมาธิปไตย แลบะพรรคชาติไทย ไม่เกี่ยวกับการยุบพรรคไทยรักไทย ส่วนเรื่องการตัดสิทธิ์การเมือง 5 ปีนั้นก็ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ 50 ที่มาที่ไปของมาตรา 237 มีคนเข้าใจว่ากรรมการยกร่างขึ้นมา จริงๆแล้วเป็นการแปรญัตติในสภาร่างรัฐธรรมนูญ ตนเป็นคนขอเติมมาตรา 237 วรรค 2 เอง และตอนดีเบตกันก็ไม่มีใครหยิกยกเรื่องนี้ขึ้นมา ปัญหาที่ไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในครั้งที่ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเราไปฟังความเห็นจาก 76 จังหวัด และในการไปฟังนั้นประชาชนมีความเห็นว่าปัญหาหลักของพรรคการเมืองและนักการเมืองมี 2 ประการ คือ 1.การทุจริตซื้อเสียง เราได้ตัวแทนปลอมๆ ที่ใช้เงินมาเป็นตัวแทน ดังนั้น การได้ตัวแทนปลอมๆเป็นการล้มล้างระบบประชาธิปไตยหรือไม่ 2.พรรคการเมืองของเราไม่ทำหน้าที่พรรคการเมือง ทำเพียงแค่ส่งผู้สมัคร จึงไม่ใช่พรรคการเมืองที่แท้จริง เหมือนอย่างที่ นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชขาติไทย ที่พูดว่า เป็นคนขับรถเมล์แล้วทำไมต้องไปรับผิดชอบคนขึ้นรถเมล์ด้วย ซึ่งความจริงพรรคการเมืองต้องทำหน้าที่ดูแลสมาชิกและรวบรวมสมาชิก เรื่องการยุบพรรคการเมืองนั้นมีอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญปี 2540 เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 237 ให้พรรคการเมืองต้องรับผิดชอบภายใต้เงื่อนไขหลายประการ เช่น ต้องมีหลักฐานที่เชื่อได้ว่า แต่บังเอิญทั้ง 3 พรรคที่ผ่านมากรรมการบริหารพรรคเป็นคนกระทำเอง
       
       นายเจิมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ประเด็นนี้ตนไปสอบถามประชาชน ว่า หากเกิดเหตุอย่างนี้จะทำอย่างไร ประชาชนก็บอกว่าต้องยุบพรรคที่ทุจริตการเลือกตั้ง การตัดสิทธิ์ 5ปีนั้นก็ไม่ใช่โทษทางอาญาหรือแพ่ง แต่เป็นโทษเพียงแค่ขอให้ไม่อาสาทำงานเพื่อสาธารณะ 5 ปี เท่านั้น ดังนั้นการใช้พฤติกรรมของศรีธนญชัยมาอ้างในการแก้รัฐธรรมนูญ โดยบอกว่าจะมีการเอาตัวแทนมาเป็นกรรมการบริหารพรรค เพราะถ้าหากเราเอาแบบนี้เป็นมาตรฐาน และคิดว่าจริยธรรมคนในแวดวงการเมืองต่ำกว่าคนทั่วไป รัฐธรรมนูญก็คงต้องเพิ่มอะไรเข้าไปอีกมากมาย
       
       นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อนุกรรมการจากวุฒิสภา กล่าวเสริมว่า มาตรา 237 เป็นหลักประกันในการพัฒนาสถาบันการเมือง และพัฒนาระบบประชาธิปไตย ถ้าไม่มีการกระทำเกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้ง มาตรา 237 ก็เหมือนไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญเลย ฉะนั้นต้องให้ความเป็นธรรมกับรัฐธรรมนูญด้วย ตนไม่ได้มองว่ามาตรา 237 เป็นยาแรงหรือยาพิษ แต่การทุจริตการเลือกตั้งต่างหากที่เป็นยาพิษทำลายระบอบประชาธิปไตย มาตรา 237 เป็นยาล้างพิษการทุจริตเลือกตั้งที่ทำลายระบอบประชาธิปไตย และมาตรา 237 จะไม่ออกฤทธิ์เลยถ้าไม่มีการทุจริตเลือกตั้ง
       
       .

อ่านต่อที่ : อนุ กก.ถกแก้ รธน.ยังวุ่น สองฝ่ายเห็นต่างคงหรือแก้ ม.237

ความเห็น»

No comments yet — be the first.

ใส่ความเห็น